สวดมนต์/ สวดมนต์ข้ามปี อะไร ทำไม

การสวด มีความหมายตรงกันกับการสาธยาย สังคายนา แต่การสวดจะเป็นการสาธยายแบบมีจังหวะ ทำนอง โดยจะสาธยายคนเดียวหรือสาธยายหลายคน พร้อม ๆ กันเป็นหมู่คณะก็ได้

            พระในสมัยพุทธกาลจดจำคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วมีการท่องบ่น สาธยายเป็นเครื่องช่วยในการจดจำ ทบทวน ตรวจสอบหลักคำสอนโดยแยกกันจดจำเป็นกลุ่ม ๆ ไป เช่น กลุ่มลูกศิษย์พระอุบาลีจดจำ สาธยายพระวินัย  เป็นต้น

            ต่อมาในคราวสังคายนาครั้งที่ 1 ที่มีพระมหากัสสปเถระเป็นประธาน เมื่อที่ประชุมสงฆ์ได้ข้อสรุปในเรื่องใด ๆ เกี่ยวกับพระวินัยที่พระอุบาลีเถระเป็นผู้วิสัชชนา และพระสูตรที่มีพระอานนท์เถระเป็นผู้วิสัชชนา พระสงฆ์ 500 รูปที่ร่วมการสังคายนา ก็จะจดจำแล้วสวดออกมาพร้อมกันที่เรียกว่าสังคายนา เป็นการยอมรับ ยืนยันความถูกต้องของพระวินัยหรือพระสูตรว่าตรงตามที่พระพุทธองค์ได้ตรัสสอนไว้

            การสวด การสาธยายหรือการสังคายนานี้ เป็นการสาธยายพระธรรมวินัยหรือพระพุทธพจน์ จึงนับได้ว่าเป็นวิธีการศึกษา สืบทอดพระศาสนาให้สืบทอดมาได้ แม้ในปัจจุบันที่มีการพิมพ์คำสอนเป็นเอกสาร เป็นหนังสือแต่พระภิกษุในบางประเทศก็ยังใช้วิธีการท่อง จดจำแบบนี้อยู่

            อีกอย่างหนึ่ง การสวด สาธยาย กระทำในโอกาสที่เกิดปัญหา ความทุกข์ ความหวาดกลัว ความไม่ปกติสุข การเจ็บป่วยของคนหรือสังคม เช่น คราวเกิดอหิวาตกโรคระบาดในเมืองเวสาลี แคว้นวัชชี (ขุททก.อ. ๑๔๐) จนมีผู้คนและสัตว์เลี้ยงล้มตายเป็นจำนวนมาก เจ้าลิจฉวีผู้ครองนครได้นิมนต์พระบรมศาสดาไปโปรด เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปถึงฝั่งแม่น้ำคงคาเมืองเวสาลี ฝนโบกขรพัสได้ตกลงมาอย่างหนัก พัดเอาซากศพและสิ่งปฏิกูลทั้งหลายหายไป ทำให้บ้านเมืองสะอาด เมื่อเสด็จเข้าไปในเมือง พระพุทธเจ้ารับสั่งให้พระอานนท์อุ้มบาตรของพระองค์ใส่น้ำ เดินสวดรตนสูตรทำพระปริตรพร้อมกับประพรมน้ำไปทั่วเมือง ทำให้ชาวเมืองหายจากโรคภัย กลับมามีความสงบสุข

            อีกตัวอย่างหนึ่ง เมื่อคราวที่พระไปบำเพ็ญเพียรในป่าแล้วถูกงูกัดจนมรณภาพ  (วินย.๒/๒๖/๑๑ เปนต้น) พระพุทธองค์ทรงแนะนำให้พระแผ่เมตตาแก่งู 4 จำพวก ไปจนถึงสัตว์อื่น ๆ ด้วย พระพุทธพจน์ที่ตรัสครั้งนั้น ถูกนำมาเป็นบทสวดในปัจจุบันชื่อว่า “ขันธปริตร” นอกจากนั้นก็มีบทสวดอื่น ๆ อีกมาก เช่น กรียเมตตสูคร สวดแผ่เมตตาให้เหล่าเทวดาทั้งหลาย (ขุททก.ขุ.๓๓๕)

            การสาธยายหรือการสวดทั้งใน 2 ลักษณะเป็นการเอาพุทธพจน์หรือคำสอนพระพุทธองค์ในพระไตรปิฏกมาสวด แต่ในสมัยหลัง โบราณาจารย์มีการตัด คัดเอาเฉพาะส่วนที่มีเนื้อหาสำคัญจากพระสูตรหรือชาตก มาสวด ตัวอย่างเช่น เอาเนื้อหาในกรณียเมตตสูตรมา แต่จะเรียกเป็นกรณียเมตตปริตร เพราะมีวัตถุประสงค์เฉพาะ เพื่อสร้างขวัญ กำลังใจ เพื่อการคุ้มครอง ป้องกันภัย ซึ่งตรงกับคำว่า ปริตร ตาณะ แผลงเป็นตำนานก็ได้ ที่แปลว่า คุ้มครอง ป้องกัน รักษา

            คำว่า “มนต์” ความหมายเดิม หมายถึงพระเวทในศาสนาพราหมณ์โดยเฉพาะอาถรรพเวท ซึ่งเป็นบทสวดเพื่อการทำร้าย ลงโทษ บังคับ ขู่เข็ญคนอื่น สัตว์อื่น เพื่อให้ตนเองสำเร็จ สมหวังดังตั้งใจ แต่เมื่อนำมาใช้ในพุทธศาสนา “มนต์” หมายถึง พุทธมนต์ พุทธปัญหา หรือ พุทธพจน์ คำสอนของพระพุทธเจ้า การสวดมนต์ จึงเป็นการกล่าวธรรมะ แสดงความจริง แผ่ความรัก ความสงบเย็น ไม่ใช่การอ้อนวอน หรือบังคับ พุทธพจน์หลายอย่างที่สวด เช่น อนุสสติ 10 ก็เป็นอารมณ์กรรมฐาน คือเป็นอารมณ์ให้ใจยึดเพื่อฝึกสติด้วย

            จาก 2 เหตุผลดังกล่าว การสวดมนต์ การสาธยายพระพุทธจน์ จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา รักษา สืบทอดคำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นการสร้างขวัญ กำลังใจและความปรารถนาดีต่อคนอื่นและสัตว์อื่น เป็นการปฏิบัติธรรม หากในขณะที่สวด ผู้สวดทำจิตจดจ่อกับคำที่สวด สงบจากความฟุ้งซ่าน มีสมาธิไปตามเนื้อหาที่สวด พิจารณา เข้าใจไปกับคำที่สวด ก็นับได้ว่าเป็นการอบรมศีล เจริญสมาธิ เจริญปัญญาไปพร้อมกันด้วย
            การสวดมนต์ข้ามปี เป็นกิจกรรมที่คิดและจัดขึ้นในช่วงหลังไม่กี่ปีที่ผ่านมา เป็นเรื่องของบัณฑิตผู้ฉลาดอาศัยเหตุการณ์หรือช่วงเวลาสำคัญมาเป็นเหตุให้ทำความดีต่าง ๆ มีการสวดมนต์เป็นต้น เช่นเดียวกันกับการอ้างเหตุการณ์วันคล้ายวันเกิด วันคล้ายวันตาย หรืออื่น ๆ เพื่อการสร้างบุญกุศลนั่นเอง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *